
อบรมพัฒนาองค์ความรู้ เดือน ก.พ.68
- กลุ่มงานธุรการ
- Read Time: 1 min
- Hits: 37

อบรมพัฒนาองค์ความรู้ เดือน ก.พ.68
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น.
พ.ต.ท.เฉลิมพล บุญทาวัน รอง ผกก.ป.สน.จักรวรรดิ
อบรมให้ความรู้กับข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานที่ราชการ สน.จักรวรรดิ
วัตถุประสงค์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกนาย ทราบแนวทาง วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นขั้นตอน เพื่อนำไปใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ลดความสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายละเอียดหัวข้อที่อบรม
มาตรการในการป้องกันอัคคีภัยของ สน.จักรวรรดิ
ก. แนวความคิดในการปฏิบัติ แบ่งขั้นการปฏิบัติออกเป็น ๓ ขั้นตอน
๑.) ขั้นตอนที่ ๑ การป้องกันเหตุ
๑.๑ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกแผนกงานในสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ จัดเก็บเอกสาร ตู้เอกสาร หรือสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในสำนักงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามลักษณะงาน การจัดเก็บระบบของกลางวัสดุที่อาจเป็นเชื้อเพลิง กระสุนปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส ให้มีมาตรการควบคุมและจัดเก็บ โดยให้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบ ให้มีกำหนดลำดับความเร่งด่วน การขนย้าย ตามความสำคัญของเอกสาร และกำหนดบริเวณที่รวมเอกสารติดไว้ที่ตู้เอกสารทุกตู้ จัดเตรียมที่ทำการชั่วคราว ห้องควบคุมผู้ต้องหาของสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด
๑.๒ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ จัดเวรรักษาความปลอดภัยสถานที่ทำการ โดยให้มีนายตำรวจผู้ตรวจเวรตั้งแต่ตั้งแต่ระดับสารวัตร ร้อยเวร สิบเวร ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตามความเหมาะสมของสถานภาพกำลังพล เพื่อดูแลความเรียบร้อยพร้อมทั้งกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบในการเก็บลูกกุญแจ ของแต่ละชั้น กุญแจห้องควบคุมผู้ต้องหา หรือกุญแจห้องเก็บรักษาสิ่งของทางราชการอย่างอื่น
๑.๓ ให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เวรตามข้อ ๑.๒ ออกตรวจตรารอบๆ บริเวณที่ทำการ เป็นระยะ ๆ รวมถึงการควบคุมบุคคลที่เข้าและออกจากบริเวณที่ทำการ เพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม การลอบวางเพลิง และการสูญหายทรัพย์สินของทางราชการ
๑.๔ ดำเนินการติดกล้องวงจรปิดบริเวณโดยรอบอาคารที่ทำการ บริเวณภายในอาคาร และอาคารบ้านพักข้าราชการตำรวจ โดยให้มีศูนย์ควบคุมกล้องวงจรปิดพร้อมเจ้าหน้าที่ เมื่อมีงบประมาณสนับสนุน
๑.๕ ให้ทุกแผนกงานมีการดำเนินการ ดังนี้
๑.๕.๑ ตรวจสอบระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ในสถานที่ทำการโดยผู้ชำนาญการ
๑.๕.๒ จัดหาอุปกรณ์ดับเพลิง และนำมาติดตั้งไว้ในแต่ละชั้นของทุกอาคาร ที่ทำการ และอาคารบ้านพักของข้าราชการตำรวจ พร้อมคู่มือคำแนะนำในการใช้ และให้มีการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอ
๑.๕.๓ ปรับปรุงสภาพอาคารที่ทำการ และอาคารบ้านพักข้าราชการตำรวจ ขจัดวัสดุที่ติดไฟง่าย อันอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้
๑.๕.๔ จัดทำแผ่นป้ายเตือนและแนวทางปฏิบัติในกรณีเกิดเพลิงไหม้ ติดตั้งไว้ ให้เห็นเด่นชัดทุกชั้นทุกอาคารที่ทำการ และอาคารบ้านพักข้าราชการตำรวจ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และข้าราชการตำรวจและครอบครัว ทราบ
๑.๖ ให้มีการติดตั้งตู้แดงรอบบริเวณอาคารที่ทำการ บ้านพักข้าราชการตำรวจ ข้างใน หรือด้านหน้าห้องควบคุมผู้ต้องหา และให้สิบเวรตรวจดูความเรียบร้อย โดยให้ปรากฏหลักฐานการตรวจไว้ที่ตู้แดง
๑.๗. การฝึกบรมให้ความรู้ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ ทุกคน และครอบครัว มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องดับเพลิงเบื้องต้น วิธีใช้อุปกรณ์ดับเพลิงประเภทต่าง ๆ การดูแลอุปกรณ์ดับเพลิงภายในอาคาร รวมถึงทราบตำแหน่งที่ตั้งเมนสวิทซ์ (คัตเอาท์ ) และวิธีปฏิบัติในการตัดกระแสไฟฟ้า ในกรณีฉุกเฉิน ทราบจุดที่ตั้งของถังดับเพลิงเคมี
๑.๘. จัดทำสัญลักษณ์ของบัญชีทรัพย์สินตลอดจนเอกสารสำคัญที่สามารถขนย้ายได้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยเรียงลำดับความสำคัญ เช่น กำหนดแถบสีแดง หมายถึงมีความสำคัญ อันดับ ๑ ให้ขนย้ายก่อน แถบสีส้ม หมายถึงมีความสำคัญอันดับ ๒ ให้ขนย้ายลำดับต่อมา แถบสีเขียว ให้ความสำคัญอันดับ ๓ ให้ขนย้ายอันดับต่อมา
๑.๙ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุป้องกันอัคคีภัยและระงับอัคคีภัย ให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัดและครอบครัว ตามความเหมาะสมในแต่ละวงรอบปี
๒) ขั้นตอนที่ ๒ การระงับเหตุ
๒.๑ ให้ผู้ที่พบเห็นเหตุเพลิงไหม้คนแรกแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของสำนักบรรเทาสาธารณภัย(ดับเพลิงสวนมะลิ) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยการดับเพลิงทราบ แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทันที
๒.๒ นายตำรวจผู้ตรวจเวร ร้อยเวร สิบเวร เมื่อได้รับแจ้งเหตุให้ดำเนินการ ดังนี้
๒.๒.๑ ให้นายตำรวจตรวจเวร หรือร้อยเวร เป็นผู้อำนวยการในการดับเพลิงไปจนกว่าจะมีผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่ารับทราบเหตุการณ์และได้สั่งการเป็นอย่างอื่น ควบคุม ดูแลสถานที่เกิดเหตุ อำนวยการดับเพลิง
๒.๒.๒ ต้องเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังที่อยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องหา ประชาชนผู้มาใช้บริการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครอบครัว และครอบครัวตำรวจ ให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยโดยเร็ว โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญอันดับแรก จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ เอกสารสำคัญต่าง ๆ ตามกำหนดแผนเคลื่อนย้าย โดยกำหนดให้มีจุดนัดพบ หรือจุดรวมพล
๒.๒.๓ แจ้งพิสูจน์หลักฐานของกองพิสูจน์หลักฐาน และพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิทราบ พร้อมทั้งใช้เส้น (Police line) กั้นที่เกิดเหตุเพื่อรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้
๒.๒.๔ จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในการอำนวยการดับเพลิง เช่น รถดับเพลิง รถพยาบาล กู้ภัย เป็นต้น
๒.๔.๕ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ เรียกกำลังข้าราชการตำรวจในสังกัดทุกนายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
๓) ขั้นตอนที่ ๓ หลังเกิดเหตุ
๓.๑ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ สำรวจความเสียหาย แล้วรายงานเหตุโดยละเอียดให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
๓.๒ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ จัดพนักงานสอบสวน และนายตำรวจ ดำเนินการทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุและสอบสวนถึงสาเหตุ และแจ้งหน่วยงานอื่นเข้าร่วมตรวจสอบ เช่น กองพิสูจน์หลักฐาน แล้วรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
๓.๓ กรณีอาคารสถานที่ทำการไม่สามารถใช้ทำการได้ ให้จัดหาสถานที่เพื่อใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และเร่งฟื้นฟู ปรับปรุง ซ่อมแซมสถานที่ทำการ บ้านพักข้าราชการ เพื่อให้ใช้การได้โดยเร็ว กรณีเพลิงไหม้บ้านพักข้าราชการ ให้จัดหาบ้านพักชั่วคราว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดปรับปรุงโดยเร็ว เพื่อให้สามารถใช้การได้
๓.๔ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจักรวรรดิ สำรวจความเสียหาย ทั้งทางด้านร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของข้าราชการตำรวจและครอบครัว แล้วประสานงานทั้งส่วนราชการและเอกชนในการเยียวยาให้กับข้าราชการตำรวจที่ได้รับผลกระทบการเหตุเพลิงไหม้